วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2555

Ecological Footprint

   



      ปัญหาในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาสำคัญในระดับโลก ที่นานาประเทศให้ความสำคัญเป็นห่วงกับการใช้ทรัพยากรและของเสียที่ปล่อยออกมาสู่สิ่งแวดล้อมของประเทศต่าง ๆ ด้วยความวิตกกังวลว่าโลกของเราใบนี้เพียงพอที่จะสามารถรองรับกับกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ได้หรือไม่ ซึ่งแต่เดิมการกล่าวถึงขีดความสามารถในการรองรับสูงสุด ( Carrying Capacity ) มักกล่าวกันในเชิงพรรณนา ที่เป็นนามธรรมสะท้อนให้เห็นภาพกว้าง แต่ไม่สามารถชี้ชัดลงไปหรือวัดรายละเอียดที่เป็นรูปธรรมได้ว่าสังคมใดหรือใครที่เป็นผู้ใช้ทรัพยากรหรือปล่อยของเสียจนเกินขีดความสามารถรองรับสูงสุด และจะเข้าไปแก้ไขที่สาเหตุของปัญหานั้นได้อย่างไร
    แนวคิด "รอยเท้านิเวศ" (Ecological Footprint : EF) เป็นแนวคิดที่มีการนำเสนอในปี พ.ศ. 2539 โดย Mathis Wackernagel และ William Rees แห่งมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา ได้เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง "รอยเท้านิเวศของเรา : การลดผลกระทบของมนุษย์ต่อโลก" ( Our Ecological Footprint : Reducing Human Impact on the Earth (Philadelphia and Gabriola Island, BC, Canada: New Society Publishers, 1996) เมื่อแนวคิดรอยเท้านิเวศเนี้ผยแพร่ต่อสาธารณะ ได้ก่อให้เกิดความสนใจและมีการนำไปทดสอบพิสูจน์ใช้ในที่ต่างๆ อย่างกว้างขวาง จนถือได้ว่าแนวคิดรอยเท้านิเวศเป็นเครื่องมืออันหนึ่งที่มีการนำมาใช้ในการประเมินขีดความสามารถในการรองรับสูงสุดของโลก ระดับประเทศ เมือง ชุมชน และระดับบุคคลได้
   รอยเท้าทางนิเวศน์ คือ ขนาดของพื้นที่บนโลกที่ต้องใช้ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการทั้งหมดนับตั้งแต่เรื่องอาหาร ไปจนถึงไม้ หรือแร่ธาตุ รวมทั้งกระบวนการจัดการกับของเสียทั้งหมด เพื่อให้มีพื้นที่เพียงพอสำหรับจุลินทรีย์ พืช และสัตว์อื่น ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโลก หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการวิเคราะห์หาสัดส่วนความสัมพันธ์ระหว่างอุปสงค์ / อุปทานข้างต้นของมนุษย์
   รอยเท้านิเวศ ช่วยให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างพฤติกรรมการบริโภค ของเรากับการพึ่งพาระบบนิเวศ ในระดับโลก และแสดงให้เห็นผลกระทบของแต่ละประเทศที่มีต่อทรัพยากรโลก โดย เป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพและปริมาณของทรัพยากรทางนิเวศที่ชุมชน หรือประเทศหนึ่ง ๆ ในการบริโภค ไม่ว่าทรัพยากรนั้นจะสามารถหาได้เองในท้องถิ่น หรือนำเข้ามาโดยใช้การค้าและเทคโนโลยีจากแหล่งภายนอกที่ไหนในโลกก็ตาม
  รอยเท้านิเวศ จึงเป็นการอุปมาเพื่อให้เห็นภาพ คนเราเมื่อเดินเท้าไปไหนก็มีรอยเท้าประทับในที่ต่างๆ รอยเท้านี้จะเท่ากับรอยเท้าตามธรรมชาติของบุคคลนั้นๆ และโดยทั่วไปไม่มีขนาดแตกต่างกันมากนัก แต่รอยเท้าทางนิเวศของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปตามการเก็บเกี่ยวจากทรัพยากรและการสร้างของเสีย จึงมีขนาดแตกต่างกันมาก เช่น รอยเท้านิเวศของประชากรสหรัฐฯใหญ่กว่าของไทยหลายเท่า รอยเท้านิเวศจึงเป็นการเปรียบเทียบหรือวัดว่า บุคคลหนึ่ง เมืองหนึ่ง หรือประชาชาติหนึ่ง ได้เหยียบย่ำในระบบนิเวศกว้างเพียงใด
    ประเภทของรอยเท้านิเวศ ในการคำนวณรอยเท้านิเวศนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ
1) รอยเท้าสำหรับที่อยู่อาศัย (Shelter Footprint) ได้แก่ ทรัพยากรที่ใช้ในการก่อสร้างบ้าน และการใช้พลังงานในบ้าน
2) รอยเท้าสำหรับอาหาร (Food Footprint) ได้แก่ การบริโภคอาหารแต่ละประเภท เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ อาหารแช่แข็ง เครื่องดื่มต่างๆ
3) รอยเท้าสำหรับการเดินทาง (Transportation Footprint) คือ รูปแบบของการเดินทาง ได้แก่ การเดินทางโดยรถยนต์ จักรยาน เครื่องบิน เรือ รถไฟ รถประจำทาง
4) รอยเท้าสำหรับของสารพัดสิ่ง (Goods & Services Footprint) เช่น เสื้อผ้า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ ภาชนะ ของใช้ต่างๆ ระบบประปา ระบบบำบัดน้ำเสีย การสื่อสารต่างๆ การดูแลสุขภาพ
      จากการคำนวนของ Global footprint network ในปี ค.ศ. 2010 พบว่า มนุษย์เราต้องใช้พื้นที่โลก 1.5 ดวง เพื่อที่จะรองรับในการใช้ทรัพยากรและการรองรับของเสียที่เกิดขึ้น หรืออีกนัยหนึ่ง คือ เราต้องใช้เวลาถึง 1 ปี กับอีก 6 เดือน สำหรับการผลิตทรัพยากรขึ้นมาใหม่ สำหรับสิ่งที่เราใช้และบริโภคเพียงแค่ 1 ปี และยังคาดการณ์ไปอีก 20 ปี ข้างหน้า ถ้าหากมนุษย์เรายังคงมีพฤติกรรมการบริโภคอย่างนี้อยู่  ในปี ค.ศ. 2030 มนุษย์เราจะต้องใช้โลกถึง 2 ใบ ที่จะเข้ามารองรับกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้ง ๆ ที่เรามีโลกเพียงแค่ใบเดียวเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น